โรคไต ไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็มอย่างเดียวสาเหตุการเกิดโรคไต
การรับประทานอาหารรสเค็มเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคไต แต่ยังมีสาเหตุของการเกิดโรคไตที่สำคัญอีกหลายอย่าง เช่น
โรคประจำตัวของคนไข้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง โรคนิ่ว
ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกี่ยวกับโรคพุ่มพวง (โรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ)
การรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่มีคุณภาพ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไตในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น คนไข้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว เมื่อรับประทานอาหารเสริมที่มีเกลือ โซเดียม จึงไปกระตุ้นให้ความดันสูงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ หรือในอาหารที่มีโปแตสเซียม ฟอสฟอรัสสูง ก็จะทำให้เกิดค่าแร่ธาตุในร่างกายผิดปกติ
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ โรคถุงน้ำในไต พบประมาณ 1 ใน 800 คน ถึง 1 ใน 1,000 คน ของประชากรในประเทศ โดยการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนเด่น คือ พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ สามารถถ่ายทอดโรคสู่รุ่นลูกได้
พบแพทย์ตั้งแต่เกิดโรคไตระยะแรกๆ ช่วยชะลอการเจ็บป่วยได้
เพราะคนไข้ที่เป็นโรคไตระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการ ซึ่งแตกต่างจากระยะท้ายๆ ที่สามารถสังเกตความผิดปกติได้อย่างชัดเจน ทีมอายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ เราจึงมีวิธีการตรวจอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการซักประวัติ ตรวจเลือดเพื่อดูค่า GFR ว่าไตสามารถทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายได้กี่เปอร์เซ็นต์ การตรวจปัสสาวะ ตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ KUB เพื่อดูเนื้อไต และการตรวจเพิ่มเติมตามสาเหตุของคนไข้แต่ละบุคคล โดยโรคไตแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
โรคไตแบบฉับพลัน มีโอกาสหายได้เมื่อทำการรักษาตรงตามสาเหตุอย่างถูกต้อง เช่น การควบคุมความดันในคนไข้ที่มีโรคความดัน ควบคุมระดับน้ำตาลในคนไข้โรคเบาหวาน
โรคไตแบบเรื้อรัง คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นตลอดชีวิต สามารถแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 5 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีค่าการทำงานของไต (GFR) มากกว่า 90 ไตอยู่ในภาวะปกติแต่เริ่มมีความเสื่อมเกิดขึ้น รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรักษาโรคประจำตัว
ระยะที่ 2 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 90 ไตเสื่อม รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 3 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 60 ไตเสื่อมมากขึ้น การทำหน้าที่กรองของเสียลดลง รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 4 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 30 ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แพทย์จะรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ให้ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจเลือดและปัสสาวะติดตามอาการทุก 3 หรือ 6 เดือน
ระยะที่ 5 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 15 เกิดภาวะไตวาย ไตไม่สามารถทำงานได้ ต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดเมื่อค่า GFR ต่ำกว่า 9, หรือทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต
คนไข้ควรรีบพบอายุรแพทย์โรคไต เมื่อมีอาการ
ขาบวม ผิดปกติ
ปัสสาวะผิดปกติ ติดขัด มีสีขุ่น มีเลือดปนออกมา
ปวดสีข้างร้าวไปหลัง หรือปวดร้าวมาถึงขาหนีบ
มีความดันสูง ต้องรับประทานยาหลายชนิด
ภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณของโรคไตในระยะที่ 3 ขึ้นไป จึงไม่ควรปล่อยให้ลุกลาม รุนแรงกว่าเดิม สำหรับในระยะที่ 1-2 สามารถตรวจพบได้ แม้ว่าจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อพบโรคในระยะแรกๆ ก็จะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดี มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เพราะโรคไตมีภาวะการอักเสบในร่างกายมาก มีความเสี่ยงเท่ากับคนไข้โรคเบาหวาน จึงสามารถพัฒนาเป็นโรคเรื้อรังชนิดอื่นได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ การเกิดแผลเรื้อรังที่ขาและเท้าดำ
คำแนะนำจากอายุรแพทย์โรคไต ในการรักษาโรคไตและดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรค
ตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคไตเป็นประจำทุกปี เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 30-40 นาที
ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 2-3 ลิตร
งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์
พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะ เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อเรื้อรังได้
ไม่ควรรับประทานยาที่มีพิษต่อไต หรืออาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน