เหงือกอักเสบ (รำมะนาด โรคปริทันต์) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
มักพบในผู้ที่ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ไม่ดี และกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
โรคนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจเป็นเรื้อรัง และหากปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรง และการสูญเสียฟันได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร มีความเครียดสูง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอดส์) อาจเกิดโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า "เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน (acute necrotizing ulcerative gingivitis/ANUG)" ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่เป็นเหงือกอักเสบเรื้อรัง
สาเหตุ
เกิดจากการสะสมของแผ่นคราบฟัน (dental plaque) และคราบหินปูน* ซึ่งจะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่จำนวนมาก เชื้อแบคทีเรียจะปล่อยสารพิษออกมาระคายต่อสารเคลือบฟันและเหงือก ทำให้ฟันผุและเหงือกอักเสบได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้แผ่นคราบฟันและหินปูนจะค่อย ๆ เจาะลึกลงไปในซอกเหงือกและฟัน ในที่สุดจะมีการทำลายกระดูกเบ้ารากฟัน ทำให้ฟันโยกและเกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟันได้ เรียกว่า ฝีรำมะนาด หรือ ฝีปริทันต์ (periodontal abscess)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ การขาดการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ภาวะผิดปกติของฟันที่ทำให้รักษาความสะอาดได้ลำบาก (เช่น ฟันคุด ฟันคดเคี้ยว) ปากแห้ง ภาวะขาดสารอาหาร (รวมทั้งการขาดวิตามินซี) การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย (เช่น การตั้งครรภ์ การกินยาเม็ดคุมกำเนิด) การสูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ ภาวะสูงวัย ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษาโรคมะเร็ง) ปัจจัยทางพันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยารักษาโรคลมชัก-เฟนิโทอิน ยาลดความดัน-กลุ่มยาต้านแคลเซียม)
เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน (acute necrotizing ulcerative gingivitis/ANUG) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobes) เป็นส่วนใหญ่ เช่น Treponema, Selenomonas, Fusobacterium, Porphyromonas, Prevotella เป็นต้น
*คราบหินปูน (dental calculus) คือ แผ่นคราบฟันหรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวขึ้นเนื่องจากมีหินปูนเข้าไปจับตัวกลายเป็นคราบหินปูน ซึ่งเกาะอยู่ตามร่องเหงือกและยากต่อการขจัดออกด้วยตนเอง (จำเป็นต้องให้ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือขูดออกเป็นระยะ) หากปล่อยไว้เป็นเวลายาวนาน ก็จะทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้
อาการ
ที่พบบ่อยคือ มีอาการเลือดออกเวลาแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน อาจมีเลือดออกเวลากินอาหารหรือผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง (ซึ่งมีการครูดถูกเหงือกที่อักเสบ) รู้สึกปวดเหงือกเล็กน้อย หรือมีกลิ่นปาก
สังเกตเห็นขอบเหงือกส่วนที่ติดกับฟันมีอาการบวม สีของเหงือกเปลี่ยนจากปกติที่เป็นสีชมพูเป็นสีแดงเข้มหรือสีออกคล้ำ ๆ
ในรายที่เป็นเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน จะมีไข้ อ่อนเพลีย เหงือกบวมแดงมาก เหงือกเป็นแผลและมีเลือดออกง่าย (อาจมีเลือดออกจากแผลเอง หรือจากการแตะถูกแผลเพียงเบา ๆ) มีกลิ่นปากแรง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแผลที่เหงือกมาก จนทำให้กินหรือกลืนอาหารลำบาก
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เหงือกและฟันเสีย
ถ้าเป็นถึงขั้นเกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟัน อาจทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือเนื้อเยื่อใต้ขากรรไกรและใต้ลิ้นอักเสบรุนแรงดังที่เรียกว่า ลุดวิกแองไจนา ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน" ใน "โรคปวดฟัน ฟันผุ")
นอกจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเหงือกอักเสบเรื้อรัง อาจเกิด "เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน" ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง มักพบในผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร มีความเครียดสูง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
มักตรวจพบขอบเหงือกส่วนที่ติดกับฟันมีลักษณะบวมแดง เหงือกร่น (คล้ายกับฟันงอกยื่นยาวขึ้น) หากจับหรือสัมผัสบริเวณเหงือกที่บวมอาจมีอาการเจ็บ และอาจตรวจพบมีฟันผุร่วมด้วย
ในรายที่เป็นเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน ตรวจพบไข้ เหงือกบวมแดง เหงือกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย (แตะถูกเบา ๆ ก็มีเลือดออก) มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ออกสีเทาเคลือบที่ผิวของเหงือก ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ/ใต้คางโต
ในรายที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว ทันตแพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
แพทย์จะทำการขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนที่ติดอยู่ตามซอกฟัน
แก้ไขความผิดปกติที่พบ เช่น ทำการอุดฟันหรือครอบฟัน แก้ไขฟันที่คดเคี้ยว เป็นต้น
ถ้ามีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเหงือกร่น อาจต้องเจาะเอาหนองออก ผ่าตัดแก้ไขซ่อมแซม ผ่าตัดปลูกถ่ายเหงือก (นำเนื้อเยื่อมาปลูกถ่ายทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายไป) หรือถอนฟันทิ้ง (ในรายที่ฟันเสียหายจนไม่อาจจะเยียวยาได้) เป็นต้น
ให้ยาบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (ลดไข้แก้ปวด) ใช้ยาชาชนิดเจล (ที่มีตัวยา lidocaine) ทาระงับปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ลดการอักเสบ) เป็นต้น
ในรายที่พบว่าเหงือกติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏีชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน เมโทรไนดาโซล) ยาบ้วนปากที่มีตัวยาฆ่าเชื้อ (เช่น chlorhexidine)
ในรายที่เป็นโรคเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลันที่รุนแรง หรือโรคลุดวิกแองไจนา แพทย์จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
ผลการรักษา เมื่อได้รับการรักษาจากแพทย์ร่วมกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง อาการมักจะทุเลาได้ภายใน 1 สัปดาห์ และหากผู้ป่วยดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ดีอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถป้องกันไม่ให้โรคกำเริบหรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
การดูแลตนเอง
หากมีอาการเลือดออกเวลาแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือกินอาหารที่มีลักษณะแข็ง ๆ หรือมีอาการปวดเหงือก เหงือกบวมแดงหรือเป็นแผล ควรปรึกษาแพทย์/ทันตแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเหงือกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/ทันตแพทย์
ติดตามการรักษากับทันตแพทย์ตามนัด
หมั่นดูแลความสะอาดช่องปากและฟัน โดยการแปรงฟันนาน 2 นาที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้ากับก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ถ้าจะดียิ่งขึ้นควรแปรงฟันหลังกินอาหารหรือของว่างทุกครั้งได้ยิ่งดี
ไม่สูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคนี้
บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ผสมเกลือแกง 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือ 250 มล.) วันละ 2-3 ครั้ง
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้สมดุลตามหลักธงโภชนาการ
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
อาเจียน กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
มีอาการปวดหรือมีเลือดออกมากขึ้น
หลังดูแลตนเองนาน 1 สัปดาห์แล้วอาการเหงือกอักเสบไม่ดีขึ้น เช่น เหงือกยังบวมแดง อาการปวดหรือเลือดออกไม่ทุเลา
มีความวิตกกังวล
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปใช้ที่บ้าน ถ้าใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดไม่ให้มีการสะสมของแผ่นคราบฟัน (แผ่นคราบจุลินทรีย์) ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง (ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน จะช่วยขจัดเศษอาหารและจุลินทรีย์ได้ดียิ่งขึ้น) และหลังกินอาหารทุกครั้งควรบ้วนปากหรือแปรงฟันทันที ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุก 3-4 เดือน ถ้าเป็นไปได้ควรใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า เพราะช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูน
2. ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน หรือตามแพทย์นัด ถ้าพบมีหินปูนแพทย์จะได้ทำการขูดหินปูน เป็นการป้องกันโรคเหงือกเสียแต่เนิ่น ๆ
3. ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ไม่สูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ, กินอาหารให้ครบถ้วนและสมดุล, ดื่มน้ำให้พอเพียง ระวังอย่าให้ปากแห้ง, ควบคุมโรคประจำ (เช่น เบาหวาน) ให้ได้ผล, ป้องกันความเครียดด้วยการหมั่นออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. นอกจากการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีแล้ว โรคนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ฟันคุด การใช้ยาบางชนิด (เช่น เฟนิโทอินที่ใช้รักษาโรคลมชัก ไซโคลสปอริน ที่ใช้ในผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ยาลดความดัน-ไนเฟดิพีน เป็นต้น) การติดเชื้อเริมในช่องปาก (ดู โรคเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน เฮอร์แปงไจนา) ภาวะขาดวิตามินซี (ดู โรคลักปิดลักเปิด) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ซึ่งอาจมีเหงือกบวมแดง และเลือดออกง่ายเป็นอาการนำมาพบแพทย์ก่อนอาการอื่น) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการเหงือกอักเสบ ควรตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
2. หญิงตั้งครรภ์และหญิงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นโรคเหงือกอักเสบได้มากขึ้น จึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก และปรึกษาทันตแพทย์ให้บ่อยกว่าคนทั่วไป
3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์) อาจเป็นเหงือกอักเสบที่มีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ ดังนั้นถ้าพบผู้ที่เป็นเหงือกอักเสบรุนแรงควรตรวจหาสาเหตุที่แฝงอยู่
ข้อมูลโรค: เหงือกอักเสบ (Gingivitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions